Hot Topic!

หลักปฏิบัติของ CG

โดย ACT โพสเมื่อ Nov 17,2017

- - สำนักข่าวโพสต์ทูเดย์ - -

 

วิฑูรย์ สิมะโชคดี นักพัฒนาอุตสาหกรรม

         

เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาด หลักทรัพย์ (ก.ต.ล.) ได้เปิดตัวหนังสือเล่มเล็กๆ เรื่อง "หลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี" (สำหรับบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ปี 2560) ออกมาเผยแพร่ ซึ่งเป็นเล่มที่ว่าด้วย "หลักปฏิบัติของการกำกับดูแลกิจการที่ดี" (Corporate Governance Code : CG Code) มีสาระที่น่าสนใจอย่างยิ่ง

         

"การกำกับดูแลกิจการ" หมายถึง ความสัมพันธ์ในเชิงการกำกับดูแล รวมทั้งกลไกมาตรการที่ใช้กำกับการตัดสินใจของคนในองค์กรให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ รวมถึงการกำหนดวัตถุประสงค์และเป้าหมาย หลัก (Objectives) การกำหนดกลยุทธ์ นโยบาย และพิจารณาอนุมัติแผนงานและงบประมาณ และการติดตาม ประเมิน และดูแลการรายงานผลการดำเนินงาน

         

วัตถุประสงค์และเป้าหมายหลัก จะครอบคลุมถึงเป้าหมายและแนวคิดหลักขององค์กร (Central idea) และเป้าหมายระยะสั้น แนวคิดหลักขององค์กรสามารถสะท้อนในรูปแบบของวิสัยทัศน์ หลักการ และรูปแบบธุรกิจที่สร้างคุณค่าให้แก่กิจการ

         

"การกำกับดูแลกิจการที่ดี" ตามหลักปฏิบัติในหนังสือเล่มนี้ หมายถึง การกำกับดูแลกิจการที่เป็นไปเพื่อการสร้างคุณค่าให้กิจการอย่างยั่งยืน นอกเหนือจากการสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้ลงทุน ซึ่งคณะกรรมการสมควรกำกับดูแลกิจการให้นำไปสู่ผล (Governance outcome) อย่างน้อย ดังต่อไปนี้

         

1.สามารถแข่งขันได้และมีผลประกอบการที่ดีโดยคำนึงถึง ผลกระทบ (Competitiveness and performance with long-term perspective)

         

2.ประกอบธุรกิจอย่างมีจริยธรรม เคารพสิทธิและมีความรับผิดชอบต่อผู้ถือหุ้นและผู้มีส่วนได้เสีย (Ethical and responsible business)

         

3.เป็นประโยชน์ต่อสังคม และพัฒนาหรือลดผลกระทบด้านลบต่อสิ่งแวดล้อม (Good corporate citizenship)

         

4.สามารถปรับตัวได้ภายใต้ปัจจัยการเปลี่ยนแปลง (Corporate resilience)

         

ที่ผ่านมา เรามักคุ้นเคยกับหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี ในด้านโครงสร้างความสัมพันธ์และแนวปฏิบัติเพื่อสร้างความโปร่งใส ความรับผิดชอบต่อหน้าที่ (Accountability) ของคณะกรรมการ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ลงทุน ซึ่งเป็นปัจจัยที่สำคัญยิ่งสำหรับ บจ.ที่มีประชาชนเป็นผู้ถือหุ้น

         

หลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีของ ก.ล.ต.ฉบับนี้ จึงนำเสนอหลักปฏิบัติให้คณะกรรมการบริษัท ซึ่งเป็นผู้นำหรือผู้รับผิดชอบสูงสุดขององค์กรนำไปปรับใช้ในการกำกับดูแลให้กิจการมีผลประกอบการที่ดีในระยะยาว น่าเชื่อถือสำหรับผู้ถือหุ้นและผู้คนรอบข้างเพื่อประโยชน์ในการสร้างคุณค่าให้กิจการอย่างยั่งยืน ตรงตามความมุ่งหวังของทั้งภาคธุรกิจ ผู้ลงทุน ตลอดจนตลาดทุนและสังคมโดยรวม

         

เรื่องที่น่ายินดีเป็นอย่างยิ่ง ก็คือ ผลการสำรวจคะแนน CGR (Corporate Governance Report) ประจำปี 2560 ของ บจ.ของไทย ได้แสดงให้เห็นว่า บจ.ไทยมีการปฏิบัติตาม "หลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี" มากขึ้น และคณะกรรมการบริษัทต่างๆ ได้แสดงบทบาทนำในเรื่องสำคัญๆ มากขึ้นด้วย เช่น กลยุทธ์ การสรรหากรรมการและจริยธรรมธุรกิจ เป็นต้น

         

การกำกับดูแลกิจการที่ดีจึงสอดคล้องกับความคาดหวังของนักลงทุนรุ่นใหม่และยุคสมัยของการมุ่งมั่นต่อต้านคอร์รัปชั่นของกิจการต่างๆ ครับผม !

 

 

 

 

 

 

#ACTองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน

 

Follow LINE: http://bit.ly/2luX9Dt
Follow Facebook: http://bit.ly/2z1Dxvw